หมู่บ้านทอน แหล่งทำเรือกอและ ตั้งอยู่ที่ตำบลโคกเตียน ห่างจากตัวเมืองตามเส้นทางนราธิวาส-บ้านทอน (ทางหลวง 4136) ประมาณ 16 กิโลเมตร เป็นหมู่บ้านชาวประมงไทยมุสลิม เป็นแหล่งผลิตเรือกอและทั้งของจริงและจำลอง เรือกอและจำลองมีราคาตั้งแต่หลักร้อยไปถึงหลักหมื่น แต่คุณค่าไม่ได้อยู่แค่นั้น เพราะคนที่ทำนั้นบางคนเป็นเด็กมีตั้งแต่อายุ 13 ปีขึ้นไป เด็กบางคนในหมู่บ้านจะใช้เวลาว่างมานั่งหัดทำเรือกอและ ศิลปะพื้นบ้านของพวกเขาเอง นอกจากเรือท่านอาจจะได้ความอิ่มใจ กลับไปด้วยหากได้เห็นความสนอกสนใจของพวก เขาที่มีต่องานศิลปะเช่นนี้
นอกจากนั้นยังมีผลิตภัณฑ์จากกระจูดและใบปาหนัน เช่นซองใส่แว่น กระเป๋า ไปจนถึงเสื่อที่มีลวดลายและสีสันสวยงามลงตัว หากรักษาดีๆ จะมีอายุการใช้งานถึง 10 ปี ระดับราคาของผลิตภัณฑ์ต่างๆไม่แพงนักตั้งแต่ 30 บาท ไปจนถึงหลักร้อย และที่นี่ยังเป็นแหล่งผลิตน้ำบูดู และข้าวเกรียบปลาที่ขึ้นชื่อของจังหวัดนราธิวาสอีกด้วย ตลอดแนวหาดจะเห็นแผงตากปลาเรียงรายอยู่ มีตุ่มซีเมนต์ใส่บูดูจำนวนมาก นักท่องเที่ยวสามารถแวะมาชมวิธีการผลิต และซื้อของฝากได้ทุกวันแต่ปกติในบ่าย วันศุกร์ชาวบ้านมักจะไปทำละหมาดและพักผ่อน ซึ่งไม่สะดวกนักหากจะแวะมาเวลานี้
เรือกอและ เป็นเรือประมงชายฝั่งขนาดเล็ก ที่ใช้ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตอนล่าง ลักษณะเป็นเรือลำใหญ่ มีความยาว 25, 22 และ 20 ศอก ลักษณะการสร้างเรือจะทำให้ส่วนหัว และท้ายเรือสูงขึ้นจากลำเรืออันเป็น เอกลักษณ์มาช้านาน ลวดลายบนลำเรือกอและเป็นการผสมผสานระหว่างลายมลายู ลายชวาและลายไทยโดยมีสัดส่วนของลายไทยอยู่มากที่สุดเช่น ลายกนก ลายบัวคว่ำบัวหงาย ลายหัวพญานาค หนุมานเหิรเวหา รวมทั้งลายหัวนกในวรรณคดี เช่น “บุหรงซีงอ” หรือ สิงหปักษี (ตัวเป็นสิงห์ หรือราชสีห์ หัวเป็นนกคาบปลาไว้ที่หัวเรือ)
เชื่อกันว่ามีเขี้ยวเล็บและมีฤทธิ์เดชมาก ดำน้ำเก่ง จึงเป็นที่นิยมของชาวเรือกอและมาแต่บุร่ำบุราณ งานศิลปะบนลำเรือเสมือน “วิจิตรศิลป์บนพลิ้วคลื่น” และเป็นศิลปะเพื่อชีวิตเพราะเรือกอและ มิได้อวดความอลังการของลวดลายเพียง อย่างเดียว ทว่ายังเป็นเครื่องมือในการจับปลาเลี้ยงชีพชาวประมงด้วย กล่าวกันว่าลูกแม่น้ำบางนราไม่มีเรือกอและ หาปลาก็เหมือนไม่ใส่เสื้อผ้า
Thanks