เรากลับมาดูอาหารและพฤติกรรมที่จัดว่าแสลง หรือเป็นข้อห้ามในการปฏิบัติตัวสำหรับการรักษาโรค ที่เราควรจะต้องทำความเข้าใจจุดประสงค์และเป้าหมาย โดยเฉพาะตัวของคนไข้เอง ที่หากนำไปปฏิบัติก็จะช่วยให้หายจากโรคที่เป็นอยู่ได้เร็วขึ้น ดังต่อไปนี้
1.อาการไข้สูง ห้ามกินอาหารรสเผ็ดร้อน เปรี้ยว และมัน
เพราะอาการไข้สูงเกิดจากธาตุไฟกำเริบ ทำให้ร่างกายมีความร้อนมากขึ้นกว่าปกติ ดังนั้นการกินอาหารที่มีรสเผ็ดร้อน เปรี้ยว และมัน จะเป็นตัวเสริมให้ความร้อนในร่างกายสูงขึ้น เราจึงแนะนำให้เลือกกินอาหารที่มีรสเย็นขมแทน เช่น ฟ้าทลายโจร บอระเพ็ด มะระขี้นก เพราะมีสารออกฤทธิ์ในกลุ่มแอลคาลอยด์
2.อาการไอเจ็บคอ หากกินอาหารทอด อาหารมันและน้ำเย็น จะทำให้มีอาการมากขึ้น
โดยปกติแล้วการไอเป็นกลไกอย่างหนึ่งของร่างกาย เพื่อกำจัดสิ่งแปลกปลอมที่ติดหรืออุดกั้นบริเวณหลอดลมและปอด ดังนั้น การกินอาหารทอดหรืออาหารที่มีความมันจะส่งผลให้หลอดลมเกิดการระคายเคืองตลอดเวลา จึงทำให้ร่างกายต้องมีการไอเพื่อเอาสิ่งแปลกปลอมนั้นออก และน้ำเย็นจะเป็นตัวกระตุ้นให้หลอดลมมีการหดตัว ทำให้มีอาการไอมากขึ้น
3.ท้องผูก ไม่ควรกินอาหารที่มีรสฝาด
เมื่อมีอาการท้องผูก เราควรกินอาหารที่มีรสเปรี้ยว ซึ่งมีสารแอนทราควิโนน เพื่อไปกระตุ้นการทำงานของลำไส้ให้มีการบีบตัว เช่น ใบมะขามแขก ใบมะขามยาดำ (หรือยางว่านหางจระเข้) แต่ในทางตรงกันข้ามการกินอาหารที่มีรสฝาด ซึ่งมีสารแทนนิน เช่น เปลือกมังคุด ใบฝรั่ง ใบชา จะไปทำปฏิกิริยาตกตะกอนโปรตีน ยับยั้งเอนไซม์ในกระเพาะอาหาร ทำให้ไม่สามารถทำหน้าที่ในการย่อยได้ ส่งผลให้เกิดอาการท้องอืดท้องผูกตามมา
4.กินถั่วลิสง ไข่ ทำให้เกิดแผลเป็นนูน
แม้ในทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ระบุว่า โปรตีนเป็นส่วนหนึ่งของการสังเคราะห์กรดแอมิโนในกระบวนการสร้างคอลลาเจน เพื่อทำให้แผลหายเร็วขึ้น แต่การแพทย์แผนไทยก็ยังมีการห้ามกิน เพราะในอดีตกลัวว่าการกินโปรตีนที่มากจนเกินไปนั้น อาจจะส่งผลให้เกิดการซ่อมแซมของร่างกายมากเกินไป จนเป็นแผลคีลอยด์หรือแผลนูนแดง
5.อาหารที่ทำให้เกิดอาการคัน เช่น อาหารทะเล อาหารหมักดอง
แพทย์แผนไทยระบุว่า อาการคันเกิดจากความผิดปกติของระบบน้ำเหลือง หรือระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งเกิดได้หลายกรณี เช่น ธาตุลม ลักษณะเป็นแผลพุพอง ธาตุไฟผิดปกติ ลักษณะเป็นแผลแห้ง ตกสะเก็ด การห้ามกินอาหารทะเล และอาหารหมักดองนั้น จึงเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะเหล่านี้เป็นสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ได้ง่าย เช่น การแพ้สารไคตินจากเปลือกกุ้ง การแพ้สารเคมีที่ใช้ในอาหารหมักดอง
6.ท้องอืดท้องเฟ้อ ห้ามกินอาหารรสเย็น ขม ฝาด
โดยเฉพาะการกินผักสด ผลไม้ ที่มีรสเย็น เช่น ผักกาด ตำลึง หรือรสขมเย็น เช่น ใบย่านาง ฟ้าทลายโจร เพราะการกินในปริมาณมากเกินไป จะทำให้มีอาการท้องอืดท้องเฟ้อได้ โดยเฉพาะรสฝาดที่มีปฏิกิริยาต่อเอนไซม์ในกระเพาะอาหาร ทำให้มีอาการท้องอืดตามมา อย่างไรก็ตามถ้ามีอาการท้องอืด ควรกินอาหารหรือสมุนไพรที่มีรสร้อน เช่น กะเพรา ขิง ข่า อบเชย ฯลฯ
7.ไข้ทับระดู ห้ามกินอาหารรสเผ็ดร้อนและรสเย็นจัด
อย่างที่กล่าวไปในข้อแรก อาหารรสเผ็ดร้อนนั้น มีผลทำให้ธาตุไฟในร่างกายสูงขึ้น โดยเข้าไปเร่งอุณหภูมิให้ร่างกายให้ร้อนขึ้นอีก ส่วนอาหารรสเย็นจัด เช่น แตงโม น้ำมันมะพร้าว รสเปรี้ยว เช่น สับปะรด น้ำส้มสายชู ถึงแม้ว่าความเย็นจะช่วยให้ความร้อนลดลงบ้าง แต่ถ้าเป็นรสเย็นจัดก็ควรต้องระมัดระวัง เพราะการพยายามทำให้ร่างกายเย็นลงอย่างรวดเร็วนั้น จะส่งผลให้ธาตุในร่างกายแปรปรวน ทำให้อาการแย่ลง อีกทั้งความเย็นจะทำให้ธาตุลมไหลเวียนไม่สะดวก เกิดการหดรัดและหนาตัวของมดลูก จนอาจทำให้มีอาการปวดมากขึ้นไปอีก
8.ห้ามกินข้าวเหนียว
ข้าวเหนียวเป็นอาหารอีกชนิดหนึ่งที่ต้องห้าม หากได้รับการรักษาด้วยแพทย์แผนไทย โดยเฉพาะอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เพราะเชื่อว่าการกินข้าวเหนียวทำให้เลือดมีความหนืด การไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อได้ไม่ดี แทนที่จะหายได้ไวขึ้น กลับทำให้หายช้าลง เนื่องจากข้าวเหนียวทำให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้น และให้พลังงานมากกว่าข้าวธรรมดานั่นเอง
9.ห้ามกินหน่อไม้
น่อไม้เป็นอาหารแสลงในตำราแพทย์แผนไทย โดยเฉพาะคนที่เป็นโรคกระดูกและข้อ เพราะหน่อไม้มีสารพิวรีนสูง เป็นสารต้นแบบในการผลิตกรดยูริก ซึ่งถ้ามีมากไป ก็จะสะสมตามข้อต่างๆ ของร่งากาย ส่งผลให้เป็นโรคเกาต์ หรือมีอาการปวดข้อได้
10.ห้ามกินเครื่องในสัตว์
เครื่องในสัตว์ เช่น ตับ กึ๋น หัวใจ ก็เช่นเดียวกัน เพราะมีปริมาณสารพิวรีนสูง ส่งผลโดยตรงกับคนที่เป็นโรคเกาต์ หรือมีอาการปวดข้อ ดังนั้นไม่แนะนำให้คนที่มีภาวะกรดยูริกในร่างกายสูงกิน
นอกจากเครื่องในสัตว์แล้ว ยังมีอาหารที่มีสารพิวรีนสูงอื่นๆ เช่น ยอดชะอม ตำลึง ฟักแม้ว ถั่วแดง ถั่วดำ ถั่วเขียว ฯลฯ
ມາເດິກແທ້ສ່ຽວ